เมนู

ปัญญาวิเสสปัญหา ที่ 16


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่
พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ ปัญญานี้อยู่ไหน
พระนาคเสนจึงแก้ไขว่า ปัญญาจะได้ปรากฏว่าอยู่ที่ไหนหามิได้
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า ถ้ากระนั้นปัญญาหามีไม่นั่นแหละซิ
พระนาคเสนจึงถามว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ลมนี้ถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่
ไหนเล่าบพิตร เมื่อพระนาคเสนถามฉะนี้
พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า
ผู้เจริญ ลมนี้เปล่า หาเนื้อหาตัวมิได้ จะได้ปรากฏว่าอยู่ที่ไหนหามิได้
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐในราชสมบัติ กระนั้น
ลมที่พัดก็ไม่มี เมื่อพระนาคเสนแก้ไขมาฉะนี้
พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีก็เห็นด้วย จึงมีพระราชโองการตรัสว่า กลฺโลสิ สมควร
แล้วพระผู้เป็นเจ้า
ปัญญาวิเสสปัญหา คำรบ 16 จบเท่านี้

วิญญาณาทีนัง นานัตถภาวปัญหา ที่ 17


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน
้ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญด้วยปรีชา อิเม ธมฺมา อันว่าธรรมทั้งหลายนี้ คือปัญญาก็ดี คือ
วิญญาณก็ดี คือชีโวก็ดี อันมีในภูตกายนี้ นานตฺถา มีอรรถต่าง ๆ มีพยัญชนะต่าง ๆ หรือ
ว่ามีอรรถอย่างเดียว แต่มีพยัญชนะนั้นต่างกันประการใด
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร วิชานลกฺขณํ
วิญญาณมีลักษณะรู้ต่าง ๆ ปัญญานั้นมีลักษณะรู้รอบคอบ จะได้กำหนดว่าชีวธรรมมีในภูตกาย
หามิได้

พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นทวีปวรมหาศาลมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน
ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจริญด้วยปรีชา พระผู้เป็นเจ้าว่าปัญญากับวิญญาณนี้มิได้กำหนดว่า
ชีวธรรม คือมีชีวิตอยู่ในภูตกายแล้ว ธรรมสิ่งไรจะเห็นรูปด้วยจักขุ จะฟังเสียงด้วยโสตะ จะดม
กลิ่นด้วยฆานะ จะลิ้มเลียรสด้วยชิวหา จะสัมผัสถูกต้องด้วยกาย จะรู้ธรรมด้วยใจเล่า
พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าท่านจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ถ้าว่า
ปัญญาและวิญญาณเป็นชีวธรรมแล้ว ชีวธรรมนั้นเห็นรูปด้วยจักขุ ฟังเสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วย
นาสา รู้รสอาหารด้วยชิวหา รู้ที่จะถูกต้องด้วยกาย รู้ธรรมทั้งหลายด้วยน้ำใจฉะนี้แล้ว
ชีวธรรมที่มีชีวิตอยู่นั้น จะเยี่ยงหน้าแหงนขึ้นไปโดยนภดลประเทศเวหา เปิดจักขุทวารคือลืมตา
แลไปบนอากาศก็จะเห็นดวงดาวดาษเวหาแล้วก็เอาเถิด ทีนี้จะให้เปิดทวารหูแล้วจะแหงนขึ้น
ไปฟังบนอากาศ จะได้เสียงเหมือนจักขุเห็นดาวบนอากาศหรือ ประการหนึ่ง จะให้เปิดฆาน
ทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร แล้วจะให้ผันหน้าออกไปโดยอากาศ จะรู้กลิ่นด้วยนาสา จะ
รู้ว่ารสด้วยชิวหา จะรู้ว่าถูกต้องกายด้วยกาย จะรู้ธรรมทั้งหลายด้วยใจเหมือนแหงนดูฟ้าเห็น
ดาราทั้งหลายด้วยจักขุนั้น หรือหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์จึงตรัสว่า จะได้รู้เหมือนจักขุแหงนขึ้นไปเห็นดาวบน
อากาศหามิได้
พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า นี่แหละลักษณะไม่เหมือนกันฉะนี้ อาตมาจึงว่าปัญญา
กับวิญญาณนี้ จะกำหนดว่าเป็นชีวธรรมอันชีวิตในภูตกายนี้ไม่ได้ เหตุลักษณะต่างกัน
มหาบพิตรพึงสำคัญเข้าพระทัยด้วยประการฉะนี้
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีก็สิ้นวิมติกังขา มีพระราชโองการตรัสว่า
กลฺโลสิ สธุสะสมควรแล้วพระผู้เป็นเจ้า
วิญญาณาทีนัง นานัตถภาวปัญหา คำรบ 17 จบเท่านี้

อรูปววัตถภาวทุกกรปัญหา ที่ 18


พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมิทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้เจริญ ซึ่งภาวะจะกำหนดอรูปธรรมให้เป็นอันเดียวนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาค
กระทำเป็นอันยากหรือ
พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระศาส-
ดาจารย์จะเอารูปธรรม คือเจตนาสิกทั้งหลายอันมีอารมณ์ต่างกัน ให้เป็นอันเดียวกันแล้วจะ
กลับแจกออกว่า ธรรมสิ่งนี้คือผัสโส ธรรมสิ่งนี้คือเวทนา ธรรมสิ่งนี้คือสัญญา ธรรมสิ่งนี้คือเจตนา
อิทํ สิ่งนี้คือจิต นี่แหละคือสมเด็จพระภรวันตบพิตร สุดที่จะกระทำเป็นอันยาก ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้เจริญ สมเด็จพระมหากรุณาผู้ทรงสวัสดิภาคกระทำอย่างไร นิมนต์พระผู้เป็น
เจ้ากระทำอุปมาให้แจ้งก่อน
เถโร ฝ่ายพระนาคเสนจึงถวายอุปมาว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร โกจิ
เทว ปุริโส
เปรียบปานดุจบุรุษหนึ่งไปสู่มหาสมุทรด้วยสำเภา จึงกอบเอาอุทกังในมหา
สมุทรด้วยซองมือของอาตมา ชิวฺหาย สายิตฺวา บุรุษผู้นั้นชิมลิ้มเลียด้วยชิวหา ชาเนยฺย โส
บุรุษผู้นั้นจะรู้หรือหามิได้ว่า อิทํ อุทกํ อุทกังนี้มาแต่แม่น้ำคงคา อิทํ อุทกํ อุทกกังนี้ไหลมาแต่
แม่น้ำยมุนา อุทกังนี้มาแต่แม่น้ำชื่อว่าสรภูนที อุทกังนี้มาแต่แม่น้ำอจิรวดี อุทกังนี้ไหลมาแต่
แม้น้ำชื่อว่ามหินที บุรุษผู้ชิมลิ้มเลียอุทกังในมหาสมุทรแล้ว จะรู้หรือหามิได้ นะบพิตรพระ
ราชสมภารเจ้า
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็น
เจ้าผู้เจริญ บุรุษนั้นจะรู้เป็นอันยาก ด้วยอุทกังนั้นระคนปนกัน
พระนาคเสนถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี อันว่าอรูปธรรมเจตสิกทั้งหลายนี้ เมื่อเจือจาน
เข้าเป็นอันเดียวแล้ว สมเด็จพระมุนีก็ทรงกระทำอันยาก ที่จะแจกออกให้เป็นภาคเป็นส่วนว่า
อยํ ผสฺโส ธรรมสิ่งนี้เป็นผัสสะ ธรรมสิ่งนี้เป็นเวทนา ธรรมสิ่งนี้เป็นเจตนา ธรรมสิ่งนี้เป็นจิต นี่
แหละมหาบพิตรพระราชสมภารจงทราบเถิด
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงฟังพระนาคเสนอุปมาก็ชื่นบานหรรษาว่า สาธุ ภนฺเต พระ
ผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหานี้ไพเราะเพราะนักหนา
อรูปววัตถภาวทุกกรปัญหา คำรบ 18 จบเท่านี้